โรงพยาบาลบางระกำ + Bangrakam Hospital
055-371168 หรือ 055-371170


อัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด


โรคอัลไซเมอร์
อัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบบ่อยที่สุด โดยภาวะสมองเสื่อมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมอง ทำให้มีปัญหาในเรื่องความคิด ความจำ อารมณ์ พฤติกรรม ความสามารถในการตัดสินใจ และอาจส่งผลกระทบไปถึงการทำกิจวัตรประจำวันด้วย อัลไซเมอร์เป็นโรคที่มีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ กินเวลาหลายปี ส่วนมากแล้วผู้ป่วยจะเกิดอาการเมื่ออายุมากกว่า 65 ปี และถ้าหากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการก่อนอายุ 65 ปี ก็จะยิ่งทำให้อาการแย่ลงเร็วขึ้น โดยโรคนี้จะทำให้เซลล์สมองตายและการเชื่อมต่อสัญญาณประสาทระหว่างเซลล์สมองมีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในที่สุด
อาการของโรคอัลไซเมอร์
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์แต่ละคนอาจอาการแตกต่างกัน โดยหนึ่งในอาการเริ่มต้นของโรค คือ ความหลงลืม เช่น ลืมชื่อคนใกล้ชิด หรือลืมสถานที่เก็บวางสิ่งของ ส่วนอาการอื่นๆที่คนใกล้ชิดอาจสังเกตเห็น ได้แก่
ภาวะสับสน เช่น เวลา-ไม่ทราบเวลาในขณะนั้น สถานที่-ไม่รู้สถานที่ที่อยู่ บุคคล-ไม่รู้จักคนคุ้นเคย
พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงและอารมณ์แปรปรวน ไม่สนใจในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นคนซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
มีปัญหาในกิจวัตรประจำวัน เช่น การแต่งตัว การเตรียมอาหาร การจับจ่ายซื้อของ การจัดการเกี่ยวกับเงิน
ดูแลตัวเองน้อยลง เช่น การดูแลความสะอาดร่างกายลดลง การรับประทานอาหารไม่เหมาะสม
มีปัญหาการสื่อสาร เช่น มีความลำบากในการพูดให้ได้เต็มประโยค หรือไม่เข้าใจคำพูดของคู่สนทนา
ในระยะท้ายๆของการเป็นโรค ผู้ป่วยอาจจะจำคนใกล้ชิดในครอบครัวไม่ได้ มีปัญหาในการเดิน การรับประทานอาหาร และการดูแลตนเองอื่นๆ ซึ่งในที่สุดก็ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์
ยังไม่ทราบเป็นที่แน่นอนว่าเหตุใดจึงเกิดภาวะสมองเสื่อม แต่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการดังนี้
อายุ โรคอัลไซเมอร์เกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่
พันธุกรรม ถ้าพ่อแม่หรือญาติสนิทเป็นโรคอัลไซเมอร์ สมาชิกในครอบครัวก็อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้
การบาดเจ็บศีรษะที่รุนแรง
ปัจจัยการดำเนินชีวิตไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ หรือการไม่ควบคุมน้ำหนักตัว
การมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ (Down is syndrome) ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อมีอายุมากขึ้น
การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
อาจเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะใช้การทดสอบความคิด ความจำ การสังเกตพฤติกรรมรวมถึงอาจมีการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง
การรักษาโรคอัลไซเมอร์
แม้ว่าอัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่การดูแลรักษาก็สามารถชะลอการดำเนินของโรคลงได้
การใช้ยา
เนื่องจากคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีสารเคมีในสมองที่เรียกว่า Acetylcholine ไม่เพียงพอ ซึ่งสารตัวนี้มีหน้าที่เชื่อมต่อสัญญาณประสาทระหว่างเซลล์ประสาท จึงมีการใช้ยายับยั้งเอ็นไซม์ที่จะไปกำจัด Acetylcholine (หรือเรียกว่า Acetylcholinesterase inhibitors) ทำให้สามารถรักษาระดับ Acetylcholine ในสมองผู้ป่วยไม่ให้ลดลงได้ นอกจากนี้แพทย์อาจต้องให้ยารักษาอาการบางอย่างของโรคอัลไซเมอร์ด้วย เช่น ยาลดความวิตกกังวล ยานอนหลับ
การบำบัดด้วยการพูดคุยปรึกษา
กิจกรรมกลุ่มพัฒนาความคิด (cognitive development programme) จะมีกิจกรรมเพื่อช่วยสมาชิกกลุ่มในการกระตุ้นความคิด ความจำ และการรับรู้ตามความเป็นจริง (reality orientation)
การกระตุ้นประสาทสัมผัส (multisensory stimulation) ด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้เสียงเพลง การให้เลี้ยงสัตว์ การนวดตัวและสุคนธบำบัดหรือการบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหย (aromatherapy)
การจัดการพฤติกรรม (behaviour management) เพื่อช่วยรักษาปัญหาทางพฤติกรรมบางประการ เช่น ภาวะซึมเศร้าและความก้าวร้าว
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีเป้าหมาย เช่น การวาดภาพ การทำอาหาร การเล่นเกมส์และการสนทนากลุ่ม ที่ช่วยให้สมาชิกมีโอกาสแสดงความเป็นตัวเองและสามารถปรับความรู้สึกถึงการมีสุขภาวะที่ดีของตนเองได้
การบำบัดทางจิตวิทยา การให้คำปรึกษาตั้งแต่ระยะแรกๆ เพื่อจัดการกับความรู้สึกไม่มั่นคง การสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง และความสิ้นหวัง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องไปในวันหน้า ซึ่งบางกรณีย่อมเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนของครอบครัวผู้ป่วยด้วย
การช่วยเหลือสนับสนุน
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์บางรายอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลหรือในสถานดูแลผู้ป่วย โดยสมาชิกในครอบครัวจะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน ซึ่งหากคุณเป็นบุคคลดังกล่าวที่ต้องดูแลผู้ป่วย คุณอาจต้องการการช่วยเหลือบางอย่างเป็นพิเศษ เพราะการดุแลผู้ป่วยสมองเสื่อมจะทำให้คุณมีความเครียดจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองได้ ดังนั้นจึงควรมีการสลับเปลี่ยนผู้ดูแลเป็นครั้งคราว เพื่อที่คุณจะได้พักผ่อนและผ่อนคลายความเครียดจากการดูแลผู้ป่วยเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ